เตือนระวัง! สัมผัสสัตว์ป่วย เสี่ยงติดเชื้อแอนแทรกซ์
บทความสุขภาพ
เตือนระวัง! สัมผัสสัตว์ป่วย เสี่ยงติดเชื้อแอนแทรกซ์
แอนแทรกซ์ ไม่ใช่โรคใหม่ แต่รู้จักกันมานาน ชาวบ้านเรียกว่า "โรคกาลี" นับเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่ง เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis ซึ่งสามารถพบได้ในดินและในสัตว์บางชนิด เช่น วัว แพะ แกะ ม้า โดยคนสามารถติดโรคได้จากการสัมผัสกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ติดเชื้อ
เส้นทางการติดเชื้อมีได้ 3 รูปแบบ
- ผ่านผิวหนัง : ติดจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง เช่น สัตว์ป่วย ซากสัตว์ หรือขนสัตว์
- ทางเดินหายใจ : สูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป พบได้น้อยแต่รุนแรงถึงชีวิต
- ทางเดินอาหาร : กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกหรือมีเชื้อปนเปื้อน
อาการที่ควรระวัง
- มีตุ่มนูนแดงบริเวณที่สัมผัส ก่อนจะกลายเป็นแผลมีสะเก็ดสีดำ (คล้ายโดนบุหรี่จี้)
- ไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
- ปวดท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเหลว หรือมีเลือดปน
แอนแทรกซ์สามารถรักษาได้หากวินิจฉัยและให้ยาปฏิชีวนะทันเวลา เช่น เพนิซิลลิน ซีโพรฟลอกซาซิน แต่หากล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ
- ล้างมือ ชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์
- เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย
- หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที
- หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
ในขณะนี้พบ ผู้เสียชีวิต ด้วยโรคแอนแทรกซ์ จำนวน 1 คน ใน จ.มุกดาหาร ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 53 ปี โรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน เริ่มมีตุ่มแผลขึ้นบริเวณมือข้างขวาเมื่อวันที่ 24 เม.ย พ.ศ. .2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวันที่ 27 เม.ย. พ.ศ. 2568 ด้วยอาการแผลที่มือเริ่มมีสีดำชัดเจนขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยทีมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้นพบผู้สัมผัสจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่กินเนื้อโคดิบ 219 คน เบื้องต้นคาดว่า ปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคในงานบุญผ้าป่า และมีการนำเนื้อโคที่ชําแหละไปแจกจ่ายให้รับประทานกันภายในหมู่บ้าน”
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา
![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() | ![]() |